...................................................... ประวัติความเป็นมา
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ 184 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 249 กิโลเมตร ถนนนครสวรรค์–พิษณุโลก (กม.10-11) โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2522 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรม ลงวันที่ 22 มกราคม 2522
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ เดิมชื่อ วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม 1 ใน 10 แห่งที่จัดตั้งตามประกาศนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตามนโยบาย ปีเกษตรกร ของรัฐบาล ซึ่งทำให้วันที่ 22 มกราคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยฯ ในการจัดตั้งนั้น ส่วนงานจังหวัดนครสวรรค์ โดยนายบรรโลม ภุชงกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และ นายสมศักดิ์ เหลาภักดี ศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ ได้เสนอที่ดินสาธารณประโยชน์ให้กรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 1,385 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ดังนี้
- แปลงที่ 1 บึงน้ำใส เนื้อที่ 743 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา
- แปลงที่ 2 บึงปลัง เนื้อที่ 641 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา
ซึ่งกรมอาชีวศึกษาได้มอบให้คณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยฯ ที่มี นายปิฏะ บุญนาค รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษาเป็นประธาน พิจารณาความเหมาะสม คณะกรรมการได้สำรวจพื้นที่และพิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสมและตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2522 กรมอาชีวศึกษาได้ตั้งให้ นายเล็ก ปานแย้ม เป็นผู้ประสานงานจัดตั้งวิทยาลัยและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการคนแรก ในเวลาต่อมา
วิทยาลัยได้เปิดทำการเรียนการสอน วันแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2525
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า เสด็จพระราชดำเนิน ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ในการเป็นองค์ประธานในงานพิธีเปิดการประชุมวิชาการสมาชิกองค์องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 8 ในการเสด็จครั้งนี้ ทรงปลูกต้นมะม่วง ส้มโอ และขนุน บริเวณงานฟาร์มไม้ผลของวิทยาลัยฯ
ปีการศึกษา 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ในวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ และกำหนดให้จัดการเรียนการสอนนอกภาคเกษตรกรรม เป็นครั้งแรก 4 สาขา คือ สาขาวิชาช่างยนต์ ประเภทวิชา ช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาพณิชยการ ประเภทวิชาพณิชยกรรม ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
พุทธศักราช 2539 กระทรวงศึกษาธิการประกาศเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยฯ เป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ และกำหนดให้ดำเนินการโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต ตามหลักการเรียนฟรี อยู่ประจำ ทำโครงการ สำหรับการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประเภทวิชาเกษตรกรรม
สภาพพื้นที่ เดิมเป็นพื้นที่บึงทำให้มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี วิทยาลัยฯได้มีการสูบน้ำออกและมีการขุดเป็นสระเพื่อทำการเก็บกักน้ำเพื่อให้ทำประโยชน์ และนำดินที่ขุดมาถมเพื่อปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้างอาคารและคันดินกั้นโดยรอบ
ลักษณะดิน เป็นดินราชบุรี ชุด 4 เนื้อเป็นดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์อินทรีย์วัตถุและโปแตสเซียมสูง มีความลาดเท 0-1 เปอร์เซนต์
......................................................................